น้ำมันหล่อลื่น (Lubricating Oil)
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นของเหลว มีหน้าที่หล่อลื่นชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ และเครื่องจักรกล ประกอบด้วย ส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ
1.น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oils)
2.สารเพิ่มคุณภาพ ( Additives)
น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oils)
น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ใช้อยู่มี 3 สามประเภท ได้แก่ น้ำมันพืชหรือสัตว์ น้ำมันแร่ และน้ำมันสังเคราะห์ แต่ส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันแร่เพราะมีคุณภาพดีเพียงพอและราคาถูก น้ำมันชนิดอื่นจะใช้ในงานที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษ ๆ บางอย่างเท่านั้น
- น้ำมันพืชหรือสัตว์ (Vegetable or Animal Oil) ในสมัยก่อนมีการใช้ในงานหลายอย่าง แต่เนื่องจากน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์มักมีความอยู่ตัวทางเคมีต่ำ เกิดเสื่อมสภาพได้ง่ายขณะใช้งาน จึงต้องผ่านขบวนการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งราคาก็จะแพงมากขึ้น จึงหมดความนิยมไป น้ำมันพืชที่ใช้ได้แก่ น้ำมันละหุ่ง น้ำมันปาล์ม น้ำมันสัตว์ที่เคยใช้กันได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันปลา ปัจจุบันมีการใช้น้ำมันพืชหรือสัตว์เป็นน้ำมันพื้นฐานน้อยมาก
- น้ำมันแร่ (Mineral Oils) เป็นน้ำมันพื้นฐานที่ใช้กันมากที่สุด เพราะนอกจากคุณภาพดีแล้วยังราคาถูกด้วย น้ำมันแร่ได้จากการเอาส่วนที่อยู่ก้นหอกลั่นบรรยากาศ มาผ่านขบวนการกลั่นภายใต้สูญญากาศ แยกเอาน้ำมันหล่อลื่นชนิดใส และชนิดข้นออกมา ที่เหลือเป็นกากก็นำไปผลิตยางมะตอย ชนิดและปริมาณของน้ำมันแร่ที่แยกออกมาได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันดิบที่นำมากลั่น น้ำมันดิบบางอย่างก็ไม่เหมาะที่จะนำมาผลิตน้ำมันแร่ น้ำมันแร่ที่ได้จากการกลั่นแยกภายใต้สูญญากาศนี้ ปกติจะยังมีคุณภาพที่ไม่ดีพอที่จะนำมาผลิตน้ำมันหล่อลื่น ต้องผ่านขบวนการต่าง ๆ เพื่อขจัดเอาสารที่ต้องการออก เพื่อให้มีความอยู่ตัวเชิงเคมี และเชิงความร้อนดี น้ำมันแร่ที่นำมาใช้ทำน้ำมันหล่อลื่นแบ่งตามดัชนีความหนืด ซึ่งแบ่งได้เป็นประเภทที่มีดัชนีความหนืดสูง กลาง และต่ำ น้ำมันแร่ที่มีดัชนีความหนืดสูงได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบประเภท พาราฟินิก (Paraffinic) ส่วนน้ำมันแร่ที่มีดัชนีความหนืดปานกลางและต่ำ ได้มาจากน้ำมันประเภท แนฟทานิก (Naphthenic)
- น้ำมันสังเคราะห์ (Synthetic Oils) เป็นน้ำมันที่สังเคราะห์ขึ้นโดยขบวนการทางเคมี วัสดุเริ่มต้นที่ใช้มักจะมาจากน้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันสังเคราะห์ที่ใช้กันมีหลายชนิดแต่ราคาค่อนข้างแพง ในปัจจุบันใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เฉพาะในงานพิเศษที่ต้องการคุณสมบัติด้านดัชนีความหนืดสูง จุดไหลเทต่ำ และมีการระเหยต่ำ เป็นต้น น้ำมันสังเคราะห์ที่ใช้กันมากมี Polyalphaolefins (PAO), Estes (Diester และ Complex Ester), Polyglycols, Silicone, Halogenated Hydrocarbon and Polypheny Ethers
สารเพิ่มคุณภาพ (Additives)
เครื่องจักรกลและเครื่องยนต์ในปัจจุบันได้รับการออกแบบให้มีขนาดเล็กลง ทำงานเร็วขึ้น และภาระน้ำหนักก็สูงขึ้น น้ำมันหล่อลื่นในเครื่องจักรและเครื่องยนต์ดังกล่าว ต้องประสบกับสภาวะด้านอุณหภูมิ ความเครียด และสภาวะน้ำหนักสูง น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานล้วนๆ มักจะยังมีคุณภาพดีไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่ต่างๆให้ได้ครบถ้วน โดยมีอายุการใช้งานที่ยืนนานตามสมควร ดังนั้นจึงต้องมีการเติมสารเพิ่มคุณภาพในปริมาณที่พอดี เพื่อเพิ่มคุณสมบัติทั้งในด้านเคมี และกายภาพ ของน้ำมันพื้นฐาน ให้ดีเหมาะสมกับงานที่ต้องการ สารเพิ่มคุณภาพมีอยู่มากมายหลายชนิดและประเภท แต่ที่มีใช้กันมากได้แก่
- สารต้านทานปฏิกิริยาออกซิเดชั่น
- สารป้องกันการสึกหรอ
- สารป้องกันสนิม
- สารป้องกันการเกิดฟอง
- สารรับแรงกดสูง
- สารเพิ่มดัชนีความหนืด
- สารชะล้าง/กระจายสิ่งสกปรก
- สารเพิ่มความเป็นด่าง
น้ำมันหล่อลื่นมักจะผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานเฉพาะอย่าง เช่น น้ำมันเครื่องยนต์ น้ำมันเกียร์ น้ำมันไฮดรอลิค เป็นต้น ในการที่จะผลิตน้ำมันหล่อลื่นชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมานั้น จะมีการพิจารณาถึงหน้าที่ที่ น้ำมันหล่อลื่นนั้นจะต้องกระทำ และสภาวะต่างๆที่ น้ำมันหล่อลื่นนั้นจะต้องประสบในขณะทำการหล่อลื่น จากนั้นจึงเลือกสรร น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และชนิด/ปริมาณของสารเพิ่มคุณภาพที่เหมาะสมกับงานที่ต้องการ จากนั้นจึงมีการทดสอบใช้งานจริง และประเมินเพื่อให้แน่ใจว่า น้ำมันหล่อลื่น ดังกล่าวมีคุณภาพดีตรงความต้องการ น้ำมันหล่อลื่นแต่ละชนิดจึงใช้น้ำมันพื้นฐานชนิดและปริมาณของสารเพิ่มคุณภาพไม่เหมือนกัน
Share